สารพันปัญหาเกี่ยวกับ ลัคนา โดย ปราณเวท
๑. ลัคนา คือ อะไร ?
ตอบ. ความหมายตามพจนานุกรม ลัคนา คือ ราศีที่ปรากฏขึ้นที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ในเวลาที่เจ้าของชะตาเกิด., เวลา หรือวันที่ถือว่าเป็นมงคลสำหรับทำการใด ๆ (แต่ในข้อเท็จจริง จะเป็นการมงคล หรือ ไม่ ก็ได้นะครับ)
ผมขออธิบายเพิ่มเติมต่อนะครับ ว่า ลัคนา คือ เวลาตกฟาก ที่ใช้เป็นจุดอิทธิพล (ส่งผล) ในการพยากรณ์ดวงชะตา ถือว่าเป็นจุดตัวตน ของเจ้าชะตา ลัคนาจึงเป็นตัวแทนของเจ้าชะตา ในการพยากรณ์ดวงชะตา การคำนวณหาลัคนาจะใช้เวลาเกิดของเจ้าชะตา ในการคำนวณหาลัคนา ซึ่งลัคนาจะขยับไปเรื่อยๆ ในแต่ละราศี (เวียนซ้าย) ตามเวลาที่เกิด ใน 1 วัน ลัคนาจะขยับย้ายไป ครบทั้ง 12 ราศี
โดยราศีที่ ลัคนา สถิตอยู่นั้น จะเป็น ภพตนุ เป็นภพแรก(ราศีที่ 1) ไม่ว่าลัคนาจะอยู่ที่ราศีใด ราศีนั้นจะเป็นภพตนุ จะกล่าวว่า ลัคนา สร้างภพ เรือนชะตา ก็ว่าได้
จากนั้น ราศีถัดไป(เวียนซ้าย) ราศีที่ 2 จากราศีที่ลัคนาอยู่ (หรือ ภพตนุ) จะเป็น ภพกดุมพะ , ราศีที่ 3 เป็น ภพสหัชชะ เรียงกันไปทางซ้ายจนถึง ราศีที่ 12 ราศีสุดท้าย คือ ภพวินาศ (อยู่ติดกับ ภพตนุ / อยู่ข้างหลังภพตนุ)
ซึ่งภพ หรือ เรือนชะตา นี้แหละครับ ที่จะเป็นตัวบอกเรื่องราวในชีวิต ของแต่ละคน เช่น ถ้าจะดูฐานะการเงิน ของเจ้าชะตาก็ต้องดูที่ ภพกดุมพะ และ ลาภะ เป็นต้น (ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีก แต่ขอไม่กล่าวถึงนะครับ)
ลัคนาจึงเป็นจุดตัวตนของเจ้าชะตา ที่เอาไว้ใช้พยากรณ์ดวงชะตา
๒. เราจะทราบได้อย่างไรว่า ลัคนา ของเราอยู่ราศีใด ต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง ?
ตอบ. การวางลัคนา อ่านรายละเอียด ได้จากบทความ ในเว็บ ตามลิ้งก์นี้ ครับ http://www.horapayakorn.com/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=1&Id=539704483
สรุปข้อมูล ที่เราต้องใช้ในการ วางลัคนา(ผูกดวง) ได้แก่ วันเดือน ปี เพื่อให้ทราบองศาดาวอาทิตย์ กับราศี ที่ดาวอาทิตย์จรอยู่ , อันโตนาที , เวลาพระอาทิตย์ขึ้น และเวลา ,จังหวัดที่เกิด เพื่อใช้ในการคำนวณวางลัคนา
๓. ลัคนา กับ ราศี คืออะไร ต่างกันอย่างไร?
ตอบ. ลัคนา คืออะไร ? คงทราบกันแล้วจาก คำตอบข้างต้น
ส่วนราศี คือ อะไรนั้น เรามา ทำความเข้าใจกัน เลยครับ คำว่า ” ราศี “ ถ้า เปิดพจนานุกรม ดูจะได้คำแปลว่า กอง หมู่ , ชื่อมาตราวัดจักรราศี ซึ่งผมก็เชื่อว่า คุณก็ยังคงจะงงๆ อยู่ดีนั่นแหละ คืออย่างนี้ ครับ “ราศี” คือ กลุ่มดาวที่เรียงรายอยู่โดยรอบ นอกระบบสุริยะ ของเรา ซึ่งจะเรียกชื่อกลุ่มดาวนั้น เป็นราศีต่างๆ เช่น ราศีเมษ ราศีพฤษภ เป็นต้น
ทำไมต้องมีราศี ? ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ถ้าเรามองขึ้นบนท้องฟ้า ยามค่ำคืน เราจะไม่รู้ตำแหน่ง บนท้องฟ้า จะสื่อสารบอกอะไรกับคนอื่นก็คงเข้าใจไม่ตรงกัน นักดาราศาสตร์ยุคแรก จึงต้องมองหาจุดหมายทางสายตา (จุดหมายบนท้องฟ้า) โดยสังเกตเห็นว่า มีกลุ่มดาวต่างๆ(ราศี) เรียงรายอยู่บนท้องฟ้า มีตำแหน่งคงที่(ซึ่งอันที่จริงก็ไม่คงที่) จึงยึดถือเป็นจุดหมายทางสายตาไป เมื่อดาวใด โคจรอยู่ในเขตราศีใด ก็จะเรียกว่า ดาวนั้นโคจรอยู่ที่ราศีนั้นๆ ก็เป็นอันรู้กันว่า อยู่บริเวณไหนบนท้องฟ้า
จากนั้นก็มีการเก็บสถิติว่า เวลาที่ดาวอาทิตย์โคจรอยู่ในราศีต่างๆ(ปกติ ดาวอาทิตย์จะโคจรอยู่แต่ละราศีใช้เวลาประมาณ 30 วัน) แล้ว มีคนเกิดในช่วงวันนั้นๆ สภาพชีวิต ครรลองการดำเนินชีวิต ลักษณะนิสัยใจคอ ก็จะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ราศี กลายเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละราศีไป เราเรียกกันว่า "ชาวราศี..." หรือ "ผู้ที่เกิดในราศี..." ซึ่งในทางโหราศาสตร์ ก็นำมาใช้ในการพยากรณ์ดวงชะตา ของผู้ที่เกิดในช่วงวันที่ ตามที่ดาวอาทิตย์โคจรอยู่ในราศีนั้นๆ และนำภพเรือนชะตา และดาวอื่นๆ มาประกอบการพยากรณ์ดวงชะตาด้วย
ระบบราศี(ใช้วันที่เกิดในแต่ละเดือน (1 ราศี จะมีประมาณ 30 วัน) เป็นจุดพยากรณ์ดวงชะตา) จึงมีความละเอียด ชัดเจนน้อยกว่า ระบบลัคนา (ใช้เวลาเกิด เป็นจุดพยากรณ์ดวงชะตา)
๔. เรื่องที่ว่า ดาวอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีต่างๆ เป็นอย่างไร?
ตอบ. ขอยกตัวอย่างวันนี้ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ ดาวอาทิตย์โคจร อยู่ที่ราศี กันย์ (ดวงอาทิตย์พ้นขอบฟ้า มาพร้อมกับกลุ่มดาว ราศีกันย์ ที่อยู่ห่างไกลออกไปนอกระบบสุริยะ) ซึ่งอันที่จริง อย่างที่ทราบกันดีว่า ดาวอาทิตย์ ไม่ได้โคจรไปไหน แต่เป็นโลกต่างหากที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ แล้วเราเอามุมมองของเราบนโลก ที่มองผ่านดวงอาทิตย์ ไปยังราศีต่างๆ แล้วก็บอกว่า ดาวอาทิตย์โคจร เข้าสู่ราศีนั้น ราศีนี้ เป็นต้น
๕. การพยากรณ์ดวงชะตา ระหว่างลัคนากับ ราศี แบบไหนแม่นยำกว่ากัน และต่างกันอย่างไร?
ตอบ. ลัคนา นั้นจะเคลื่อนไปตามราศีต่างๆ ในแต่ละรอบวัน (๒๔ ชม.) โดยจะเริ่มจากราศีที่ ดาวอาทิตย์จร อยู่ก่อน( ดวงอาทิตย์พ้นขอบฟ้า ทิศตะวันออก มาพร้อมกับกลุ่มดาว ราศี ที่อยู่ห่างไกลออกไปนอกระบบสุริยะ) จากนั้นก็จรไปเรื่อยๆ จนครบ ๑๒ ราศี โดยคำนวณวางลัคนา(ผูกดวง) ตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวไว้ข้างต้น
สำหรับ ราศี นั้น มาจาก การที่ดาวอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีต่างๆ ทั้ง ๑๒ ราศีในรอบ ๑ ปี โดยดาวอาทิตย์จะโคจร อยู่ในแต่ละราศี นานประมาณ ๑ เดือน (ฝรั่งเรียกว่า Sun sign) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ จักรราศี อยู่ ๒ ระบบคือ ระบบสายนะ (Tropical Zodiac ) ตะวันตก กับ ระบบนิรายนะ (Sidereal Zodiac) ตะวันออก
ระบบ สายนะ นักโหราศาสตร์ ฝั่งตะวันตก นิยมใช้ เป็นระบบที่อิงฤดูกาล สังเกตได้จากการกำหนดราศี จะเปลี่ยนราศีตั้งแต่วันที่ ๒๐ กว่าๆ เช่น ผู้ที่เกิดราศีกันย์ คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ ๒๓ สิงหาคม – ๒๒ กันยายน ของทุกปี
ระบบ นิรายนะ นักโหราศาสตร์ ฝั่งตะวันออก เช่น ไทย ,อินเดีย นิยมใช้ เป็นระบบที่อิงจากดาวฤกษ์ การเปลี่ยนราศี จะเป็นช่วงกลางเดือน เช่น ผู้ที่เกิดราศีกันย์ ก็คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ ๑๗ กันยายน – ๑๗ ตุลาคม ของทุกปี
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ลัคนา จะละเอียดกว่า ราศี เพราะฉะนั้น เวลาที่เราไปดูดวง ท่านโหรก็มักจะขอทราบวันเดือนปี เวลาเกิด จังหวัดที่เกิด เพื่อใช้ในการวางลัคนา ส่วนการพยากรณ์ราศี จะใช้สำหรับการพยากรณ์ คนทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงใคร(หาอ่านได้ง่าย ตามวารสาร หนังสือ เว็บฯต่างๆ ) จะพยากรณ์เป็นภาพรวมคร่าวๆ ว่า ท่านที่เกิดระหว่างวันที่นั้นถึง วันที่นี้ จะมีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งก็สามารถนำมาพยากรณ์ได้ อย่างน่าพอใจ
สรุปการพยากรณ์ โดยใช้ ลัคนา จะมีแนวโน้มแม่นยำกว่า (ทั้งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของโหรแต่ละท่านด้วย)
แล้วทีนี้ ผู้ที่รู้ว่าตัวเอง มีลัคนาอยู่ราศีใด แล้วไม่อยากเสียเงินมาดูดวงกับหมอดู โหร ก็สามารถอ่านคำพยากรณ์ ราศีนี้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ลัคนาอยู่ราศีเมษ แต่เกิดวันที่ ๘ ตุลาคม เป็นราศีกันย์ อย่างนี้ จะอ่านทั้งสองราศี คู่กันก็ได้ แต่ควรให้น้ำหนักที่ราศีกันย์ มากกว่าทั้งนี้ ก็เพราะว่า ผู้ที่เขียนบทความ จะใช้ดาวอาทิตย์ ที่จรอยู่ในราศีต่างๆ เป็นหลักในการพิจารณา ออกคำพยากรณ์ดวงชะตา
๖. ในการวางลัคนา ควรใช้ปฏิทินใดดี ?
ตอบ. ในการวางลัคนา นั้น สามารถใช้ ปฏิทินโหราศาสตร์ ได้หลายระบบ ซึ่งที่นิยมใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ มีอยู่ ๒ ระบบคือ สุริยยาตร์ (มีใช้มากที่สุด) กับ นิรายะนะ ส่วนจะใช้ระบบไหนดีนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า เรียนมาแบบไหน ระบบใด และประสบการณ์ของโหรแต่ละท่าน ปัญหาที่มักจะเจอคือ ปฏิทินทั้งสองระบบนี้ ทำให้วางลัคนา และดาวบางดวง ไม่ตรงกัน อยู่กันคนละราศี
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะใช้ปฏิทินระบบใด ก็จะสามารถพยากรณ์ดวงชะตาได้พอๆกัน เพียงแต่อาจจะเห็น บางเรื่องราวชัดเจน ต่างกันบ้าง และต้องยอมรับว่าในบางครั้ง ก็ต่างกันมากจริงๆ ซึ่งก็พบไม่มาก
สำหรับตัวผมเอง ผมใช้ได้ทั้งสองระบบ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยึดการสอบลัคนา เป็นหลักสำคัญ แต่ถ้าสอบลัคนาแล้ว ก้ำกึ่งพอๆกัน ผมก็จะเลือกใช้ระบบนิรายะนะ ตามที่เคยเรียนกับ อ.เชียร บางบอน มาครับ
สรุปว่า ใช้ดีทั้งคู่ครับ ก็เหมือนกับ ยา นั่นแหละครับ บางคนกินตำรับนี้ถูก บางคนก็กินไม่ถูก บางคนกินตำรับนู้นถูก ตำรับนี้กินไม่ถูก รักษาไม่หาย ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรค ว่าควรให้ยาตำรับใด จึงจะรักษาหาย ประมาณนี้ครับ
๗. ทางโหราศาสตร์ เปลี่ยนวันใหม่ เมื่อไหร่ ?
ตอบ.ทางโหราศาสตร์จะเปลี่ยนวัน ตอนที่พระอาทิตย์ขึ้น (วันใหม่ ก็คือ ตะวันใหม่) ถ้าจะให้ถูก ก็ต้องเรียกว่า เปลี่ยนวารเมื่อไร ? “วาร” ที่ว่านี้ ก็คือ วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร ...ถึงเสาร์ ส่วนการเปลี่ยนวันที่ ก็เปลี่ยนตอนเลยเวลาเที่ยงคืน (00.00 น) ไป ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ วันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ พอเลยเวลา เที่ยงคืน(00.00 น) ก็เปลี่ยนวันที่ เป็นวันที่ ๙ ตามหลักสากล แต่วาร ยังไม่เปลี่ยน ยังคงเป็นคืนวันอาทิตย์ อยู่ พอรุ่งเช้า พระอาทิตย์ขึ้น จึงจะเปลี่ยนวาร เป็นวันจันทร์ เพราะฉะนั้น ถ้า เราเกิดคืนนี้ เวลา ๐๑.๐๐ น เวลาเราไปดูดวง ก็บอกวันเวลาให้ท่านโหรทราบว่า เราเกิดคืนวันอาทิตย์ที่ ๙ เวลา ๐๑.๐๐ น รุ่งขึ้นเป็นวันจันทร์ อย่างนี้ ท่านโหรก็จะเข้าใจเอง ครับ
๘. ทำไมแต่ละอาจารย์บอก วันที่เริ่มและสิ้นสุด บางราศีไม่ตรงกัน?
ตอบ. ครับ ผมได้อธิบายไปบางส่วนแล้วในข้อ ก่อนหน้านี้ซึ่งอาจจะยังไม่ชัดเจน ผมจะขออธิบายเพิ่มเติม ตามที่มีข้อสงสัยมาดังนี้ครับ
นอกจาก ระบบสายนะ(ฝั่งตะวันตก) กับ นิรายนะ(ฝั่งตะวันออก/เอเซีย) แล้ว สำหรับ ปฏิทินที่นิยมใช้ในประเทศไทยยังมีแยกย่อยออกไปอีก 2 ระบบใหญ่ๆ คือ สุริยยาตร์(สมาคมโหราศาสตร์ฯ เว็บโหราศาสตร์ ส่วนใหญ่นิยมใช้ระบบนี้) กับ นิรายนะ จึงทำให้การกำหนดดาวอาทิตย์ โคจรเข้าสู่ราศีต่างๆ มีการแตกต่างกันออกไปอีก ทั้งนี้ ก็ด้วยระบบการคำนวณ กับ จุดเวลาที่ใช้ในการคำนวณต่างกัน เช่น สุริยยาตร์ คำนวณ ณ.เวลา 24.00 น ส่วน นิรายนะ คำนวณ ณ.เวลา 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย จึงทำให้วันที่ดาวอาทิตย์โคจรเข้าแต่ละราศี แตกต่างกันบ้างในบางราศี ซึ่งในการเขียนบทความในเว็บฯ ของผม วันที่อาทิตย์โคจรย้ายราศี ปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ผมจะใช้ระบบสุริยยาตร์ เป็นหลักครับ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นระบบสุริยยาตร์ แบบเดียวกัน (หรือระบบนิรายนะ แบบเดียวกัน) วันที่ของแต่ละอาจารย์ ก็อาจจะไม่ตรงกันได้ ± 1 วัน ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุหลักๆ คือ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365.25 วัน ทุกๆ 4 ปี จะถูกปรับให้เป็น 366 วัน ก็คือปี ค.ศ.ที่หารด้วย 4 ลงตัวไม่มีเศษ อย่างเช่นปีนี้ ค.ศ. 2020 จึงทำให้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2020 มี 29 วัน และ วันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ 13 เมษายน ในปีนี้ ซึ่งตามปกติวันมหาสงกรานต์จะเป็นวันที่ 14 เมษายน
สำหรับท่านที่ต้องการทราบ อย่างแน่ชัดว่า ตนเองเกิดราศีใดกันแน่ ก็ให้เข้าไปผูกดวง ตามเว็บ โหราศาสตร์ ที่มีโปรแกรมผูกดวง แล้วให้สังเกตดูว่า ดาวอาทิตย์ (เลข ๑ ) ในวัน เดือน ปี ที่เราเกิดนั้น อยู่ที่ราศีใด ก็ให้ยึดราศีนั้น เป็นหลักได้เลยครับ ถ้าไม่อยากสับสนมากก็ให้เข้าไป ผูกดวงด้วยระบบสุริยยาตร์ นะครับ
ยกตัวอย่าง ท่านที่เกิดวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2513 เวลา 00.01 น (เปลี่ยนวันที่หลังเที่ยงคืน) ผูกดวงด้วยระบบสุริยยาตร์ จะได้รูปดวงดังนี้ครับ
รูปดวงชะตาผู้ที่เกิดวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2513 เวลา 00.01 น ตามระบบสุริยยาตร์
จะเห็นได้ว่า ดาวอาทิตย์ (๑) อยู่ที่ราศีมิถุน แล้วเพราะฉะนั้น ท่านใดที่เกิดวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2513 จะเป็นชาวราศีมิถุน ครับ เพิ่มเติมนะครับ จากรูปดวงชะตาข้างบน จะเห็นว่า ลัคนา อยู่ราศีกุมภ์ นะครับ
(อธิบายเพิ่มเติม : ตามรูปดวงชะตา คือ เจ้าชะตา เกิดราศีมิถุน เพราะดาวอาทิตย์ (๑) อยู่ราศีมิถุน ส่วน ลัคนา อยู่ราศีกุมภ์ ถ้าผูกดวงวางลัคนา ตามรูปดวงชะตาอย่างนี้ ก็จะใช้ลัคนาเป็นจุดพยากรณ์ โหรจะบอกว่า เป็นคนราศีกุมภ์ ตามลัคนา ครับ )
ถ้ามีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติม ก็สอบถามมาได้ครับ แล้วผมจะรวบรวมคำถาม และหาข้อมูล คำตอบ มาปรับปรุง บทความนี้ ให้อีกครั้ง ครับ
ปราณเวท
วันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐