จันทร์เพ็ญ กับ จันทร์ดับ เรียบเรียงโดย ปราณเวท
ในเรื่องจันทร์เพ็ญ (ปูรณมี) กับ จันทร์ดับ (อามาวสี) มีหลายท่านสับสนว่า วันไหนดีกว่ากัน และเราต้องห่วงต้องระวัง หรือต้องทำอะไรบ้างในวันดังกล่าวนี้ จากที่ผมอ่านตำราโหราศาสตร์ ของอาจารย์หลายท่าน
เช่น อ.เทพย์ สาริกบุตร , อ.พลูหลวง ,อ.เปี่ยม บุญยะโชติ ที่ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ พอสรุปได้ดังนี้ครับ
เรื่องการเกิดจุดจันทร์เพ็ญ กับ จุดจันทร์ดับ นั้น (ที่พิมพ์ว่าจุดนำหน้านั้น ก็เพราะว่าในขณะที่เกิด อามาวสี หรือ ปูรณมี นั้นเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งของวันเท่านั้น ตามระยะการโคจรของดาวจันทร์ คือ จันทร์โคจร ๑ องศาใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นทุกเดือน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ กับวันแรม ๑๕ ค่ำ ซึ่งทางพระพุทธศาสนากำหนดให้เป็นวันพระ เพราะฉะนั้นไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก เราไปทำบุญ ถือศีล สวดมนต์ไหว้พระ ทำจิตใจให้สงบมีสติ ก็พอครับ
จุดอามาวสี (แรม ๑๕ ค่ำ) จันทร์ดับ
ในทุกๆ หนึ่งเดือนทางจันทรคติ ดาวจันทร์จะโคจรร่วมกับอาทิตย์ ในนักษัตรฤกษ์เดียวกัน หรือโคจรร่วมราศีกัน เรียกว่า อามาวสี หรือแรม ๑๕ ค่ำ องศาของดาวอาทิตย์และองศาดาวจันทร์เท่ากัน (ทับกันสนิทองศา) เรียกว่า จุดอามาวสี จะเป็นคืนที่เราไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ ถือว่าดวงจันทร์มืด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เป็นคืนเดือนมืด และให้โทษร้ายแรงที่สุด ในตำราของท่าน อ.เปี่ยม ถึงกับระบุว่า จุดอามาวสี เป็น จุดวิบัติ เลยทีเดียว และท่านยังให้หลักการพยากรณ์ไว้ว่า
จุดอามาวสี ทับอาทิตย์ในดวงชาตา คือในปีใดแรม ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันเกิดของเจ้าชะตาพอดี ปีนั้นเจ้าชะตาจะประสบแต่เรื่องร้ายแรง ถ้าทับดาวใดในดวงชาตา ถือว่าจะให้โทษกับดวงดาวนั้น ภายในที่ท่านกำหนดไว้ ๓๐ วันและถ้า ตกอยู่ในภพใด ภพนั้นจะไม่ให้คุณกับ เจ้าชะตาเลยในเดือนนั้น
วันอามาวสี นี้โหราจารย์หลายท่าน ได้ระบุไว้ในตำราเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่า ห้ามทำการมงคลในวันจันทร์ดับ ที่พอจะสามารถทำการได้ก็เป็นพวกพิธีกรรม ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เท่านั้น โหราจารย์บางท่านก็ใช้จุดอามาวสี ในการพยากรณ์ชะตาบุคคล ในรอบเดือนนั้นๆ
จุดปูรณมี (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) จันทร์เพ็ญ
ในรอบหนึ่งเดือนทางจันทรคติ อาทิตย์กับจันทร์จะโคจรมาเล็งกัน(อยู่ในราศีตรงข้ามกัน) จุดนั้นพระจันทร์จะเต็มดวงพอดี ดวงจันทร์มีแสงมากที่สุดในจุดนั้น ท่านถือว่าให้คุณแก่เจ้าชะตาอย่างมาก อ.เปี่ยม ท่านเรียกว่า จุดสมบัติ ถ้าวันเกิดของเรา ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ ในปีใด ถือว่าปีนั้น เราจะรุ่งเรื่องที่สุด หลักเกณฑ์การพิจารณาพยากรณ์ ก็มองในมุมพยากรณ์คล้ายๆ กับ จุดอามาวสี ตามที่กล่าวมาข้างต้น
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การพิจารณาว่า ดีหรือไม่ดี นั้นเป็นเรื่องของมุมมอง ทัศนะของแต่ละท่าน ผมขอยกตัวอย่างเช่น โบราณท่านบอกว่า เวลานอนอย่าหันหัวไปทางทิศตะวันตก แต่ก็มีบางท่านมองในมุมต่าง
ว่า จริงอยู่เวลานอนเราหันหัวไปทางทิศตะวันตก แต่พอเราตื่นนอน เริ่มวันใหม่ เวลาเราลุกจากที่นอน เราก็จะหันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศมงคล
อีกตัวอย่างก็คือ เรามักจัดโต๊ะหมู่บูชาให้ พระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แต่พอเวลาเราไหว้พระ ตัวเรากลับต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ ท่านผู้อ่านอย่าไปคิดมากนะครับ เอาเป็นว่าผมกำลังจะบอกว่า เรื่องบางอย่างมันก็เป็นเรื่องของมุมมอง วิจารณญาณ ของแต่ละท่าน เราไม่สามารถไปกำหนดชี้ชัดลงไปได้ ว่าเรื่องนี้ถูก เรื่องนั้นผิด เพราะว่าจริงๆแล้ว ในถูกอาจมีผิดผสม ในผิดอาจมีถูกปะปนอยู่ก็ได้ อย่างนี้แล้วท่านก็คงต้องพึ่งสติปัญญา ข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผล ของตัวท่านผู้อ่านเอง ละกันครับ