ตรียางค์ นวางศ์ ฤกษ์ เรียบเรียงโดย ปราณเวท
เนื้อหาสาระต่างๆ ที่ปรากฏด้านล่าง ได้มาจากหนังสือ, บทความ ของอาจารย์หลายท่าน ดังนี้ อ.พลูหลวง , อ.เอื้อน มนเทียรทอง ,อ. อรุณ ลำเพ็ญ ,อ.เทพย์ สาริกบุตร ,อ.สอ้าน นาคเพชรพลู คุณงามความดีทั้งหลาย ที่ได้จากบทความนี้ ย่อมตกเป็นของท่านอาจารย์ทั้งหลายที่ผมกล่าวมาทั้งสิ้น ตัวผมเองเป็นเพียงผู้ที่อ่านและศึกษา วิชาที่อาจารย์ทั้งหลายเขียนไว้ แล้วนำมาสรุปเรียบเรียงให้ท่านได้อ่านอีกทอดหนึ่งเท่านั้นเอง
ก่อนที่จะเรียนรู้เรื่อง ตรียางค์ นวางศ์ ฤกษ์ เราก็ต้องมารู้จักมาตราโหราศาสตร์เสียก่อน เพราะการวางดวงตรียางค์ ดวงนวางศ์นั้น จำเป็นต้องใช้องศาดาว และ องศาลัคนา ฉะนั้นเราก็ต้องทราบมาตรา
ของโหราศาสตร์ก่อนดังนี้
มาตราโหราศาสตร์
1 วงกลมจักรวาล = 12 ราศี
1 วงกลมจักรวาล = 360 องศา
1 ราศี = 30 องศา ( 3 ตรียางค์ หรือ 9 นวางศ์)
1 ตรียางค์ = 10 องศา ( 3 นวางศ์)
1 นวางศ์ = 3 องศา 20 ลิปดา
1 องศา = 60 ลิปดา
1 ลิปดา = 60 พิลิปดา
อัตราการโคจรของดาว (เราจะใช้มากในตอนพยากรณ์จร)
๑ โคจร ราศีละประมาณ ๓๐ วัน
๒ โคจร ราศีละประมาณ ๒ วันครึ่ง
๓ โคจร ราศีละประมาณ ๔๕ วัน
๔ โคจร ราศีละประมาณ ๓๐ วัน
๕ โคจร ราศีละประมาณ ๑ ปี
๖ โคจร ราศีละประมาณ ๓๐ วัน
๗ โคจร ราศีละประมาณ ๒ ปีครึ่ง
๘ โคจร ราศีละประมาณ ๑ ปีครึ่ง
๙ โคจร ราศีละประมาณ ๕๕ วัน
๐ โคจร ราศีละประมาณ ๗ ปี
ตรียางค์ (ตรีย + อังศะ ในส่วนภาษาบาลี สันสกฤต ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะมี อาจารย์หลายท่าน เขียนต่างกัน แต่เมื่อแปลแล้วมีความหมายใกล้เคียงกันคือ แบ่งเป็นสามส่วน )
ปฐมตรียางค์ คือ ๑ - ๑๐ องศา
ทุติยตรียางค์ คือ ๑๑ - ๒๐ องศา
ตติยตรียางค์ คือ ๒๑ - ๓๐ องศา
การวางดวงตรียางค์ คือ เราต้องดูจากองศาของ ดาวหรือ ลัคนา ว่ามีกี่องศา อยู่ตรียางค์อะไร เราก็วาง ดาวหรือลัคนา นั้นลงใน ตรียางค์นั้นๆ โดยเริ่มนับจาก ราศีที่ดาว หรือ ลัคนาอยู่ เวียนทวนเข็มนาฬิกา ไปทีละจุด มุมตรีโกณ (ราศีธาตุเดียวกัน) และเรียก ตรียางค์ที่ดาว หรือลัคนา ไปอยู่นั้น ตามดาวเจ้าเรือนเกษตร ของราศีนั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น
ลัคนา อยู่ราศีพิจิก มีค่าองศา ๑๓ องศา ก็เท่ากับว่า ลัคนาอยู่ใน ทุติยตรียางค์ เราก็วางลัคนา ลงในจุดมุมตรีโกณ(ธาตุน้ำ) ที่สอง นับจากราศีที่ลัคนาอยู่ ถัดไป ซึ่งก็คือ ราศีมีน เรียกว่า ลัคนาเกาะตรียางค์พฤหัสบดี
ดาว ๑ อยู่ราศีกันย์ มีค่าองศา ๕ องศา ก็เท่ากับว่า ดาว ๑ อยู่ใน ปฐมตรียางค์ เราก็วางลัคนา (ดวงตรียางค์) ไว้ที่เดิม คือราศีกันย์ เรียกว่า ดาว ๑ เกาะตรียางค์พุธ
นวางศ์ (นวะ + อังศะ) แปลว่า แบ่งออกเป็นเก้าส่วน หรือ หนึ่งในเก้าส่วน
นวางศ์มีทั้งหมด ๙ ลูก แต่ละลูกมี ๓ องศา ๒๐ ลิปดา มีชื่อเรียกตามลำดับเลข คือ
ปฐมนวางศ์ ทุติยนวางศ์ ตติยนวางศ์ จัตุถนวางศ์ ปัญจมนวางศ์ ฉัฐมนวางศ์ สัตมนวางศ์ อัฐมนวางศ์ นวมนวางศ์ (อ่านยากหน่อยนะครับ เพราะเขียนแนวนอน คือถ้าเป็นแนวตั้ง เวลาอัพโหลด เข้าเว็บ ตัวหนังสือแต่ละบรรทัดจะไม่ตรงกัน จะโย้เข้า โย้ออก เป็นปัญหาของผมจริงๆ เลย)
หลักการวางดวงนวางศ์ ก็คล้ายๆ กับ การวางดวงตรียางค์ ต่างกันตรงที่ นวางศ์นั้น จะเริ่มนับลูกนวางศ์ ที่ราศีต้นธาตุ(แม่ธาตุ) ที่ดาวหรือ ลัคนา อยู่เท่านั้น ดาวหรือลัคนา อยู่ในลูกนวางศ์ที่เท่าไร ก็นับทวนเข็ม
นาฬิกาไปราศีละหนึ่งลูกนวางศ์
ยกตัวอย่างเช่น
ลัคนา อยู่ราศีพิจิก (ธาตุน้ำ) มีค่าองศา ๑๓ องศา ก็เท่ากับว่า ลัคนาอยู่ใน จัตุถนวางศ์ (นวางศ์ลูกที่ ๔) โดยเริ่มนับที่ราศีต้นธาตุน้ำ ( ราศีกรกฏ ) ไปทีละราศี ราศีละหนึ่งลูกนวางศ์ ก็จะวาง ลัคนา อยู่ในราศีตุลย์ เรียกว่า ลัคนาเสวยนวางศ์ศุกร์
ดาว ๑ อยู่ราศีกันย์(ธาตุดิน) มีค่าองศา ๕ องศา ก็เท่ากับว่า ดาว ๑ อยู่ใน ทุติยนวางศ์ (นวางศ์ลูกที่ ๒) นับตั้งแต่ราศีต้นธาตุดิน (ราศีมังกร) ไป ๒ ราศี ก็จะวาง ดาว ๑ อยู่ในราศีกุมภ์ เรียกว่า ดาว ๑ เสวยนวางศ์เสาร์ (ให้ถือว่าราศีกุมภ์ เป็นเรือนของดาวเสาร์)
พระเคราะห์เสวยวรโคตมนวางศ์
หมายถึง ดาวหรือ ลัคนา มีองศาอยู่ในนวางศ์ที่ได้ วรโคตมนวางศ์ ซึ่งเป็น นวางศ์ที่ทรงคุณภาพสูงสุดในราศีนั้น มีกฏเกณฑ์ดังนี้
ในจรราศี (ราศีแม่ธาตุ) อันได้แก่ราศี เมษ กรกฏ ตุลย์ มังกร กำหนดให้ นวางศ์ลูกที่ ๑ เป็น วรโคตมนวางศ์
ในสถิรราศี (ราศีกลางธาตุ) อันได้แก่ราศี พฤษภ สิงห์ พิจิก กุมภ์ กำหนดให้ นวางศ์ลูกที่ ๕ เป็น วรโคตมนวางศ์
ในอุภัยราศี (ราศีปลายธาตุ) อันได้แก่ราศี มิถุน กันย์ ธนู มีน กำหนดให้ นวางศ์ลูกที่ ๙ เป็น วรโคตมนวางศ์
ฤกษ์
คือ กลุ่มดาวบนท้องฟ้า เป็นดาวที่ตรึงอยู่กับที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เรียงรายกันอยู่รอบจักรราศี เหมือนกับ ราศี รวมกันเป็นหมู่ๆ มี ๒๗ หมู่ หรือ ๒๗ ฤกษ์(นักษัตร) คนสมัยก่อนจะเฝ้าสังเกต การโคจรของ ดวงจันทร์ ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ต่างๆ แล้วนำมาพยากรณ์ ชะตาชีวิตและความเป็นไปของ บุคคลต่างๆ และยังนำมาใช้ในการกำหนดเวลากระทำการต่างๆ อีกด้วย
ฤกษ์ที่ ๑ อัศวิณี หรือ อัศวินี ( กลุ่มดาวม้า ,รูปคอม้า ,หางหมู)
ฤกษ์ที่ ๒ ภรณี ( กลุ่มดาวแม่ไก่ หรือ ก้อนเส้า ,ดาวธงสามเหลี่ยม )
ฤกษ์ที่ ๓ กฤตติกา หรือ กฤติกา ( กลุ่มดาวลูกไก่ ,ดาวธงสามเหลี่ยมหางยาว)
ฤกษ์ที่ ๔ โรหิณี ( กลุ่มดาวจมูกม้า หรือ คางหมู ,ดาวไม้ค้ำเกวียน)
ฤกษ์ที่ ๕ มฤคศิระ ( กลุ่มดาวหัวเนื้อ ,หัวเต่า )
ฤกษ์ที่ ๖ อราทรา หรือ อารทรา ( กลุ่มดาวฉัตร,ดาวตาสำเภา,รูปเหมือนหนึ่งแก้วปัทมราช )
ฤกษ์ที่ ๗ ปุนรวสุ หรือ ปุนัพสุ ( กลุ่มดาวสำเภาทอง ,ดาวชัย ,หัวสำเภา)
ฤกษ์ที่ ๘ ปุษยะ หรือ บุษยะ ( กลุ่มดาวปุยฝ้าย ,พวงดอกไม้,ดาวสมอสำเภา,ดอกบัวหลวง หรือดาวรูปหีบ) ฤกษ์ที่ ๙ อาศเลษะ หรือ อาศเลษา ( กลุ่มดาวแมว หรือ พ้อม,เรือน ,คู้ข้อศอก ,แขนคู้ )
ฤกษ์ที่ ๑๐ มาฆะ หรือ มฆา ( ดาววานร หรือ งอนไถ , งูผู้ , ดาวโคมูตร)
ฤกษ์ที่ ๑๑ ปุรพผลคุนี หรือ บุรพผลคุนี ( กลุ่มดาวเพดานหน้า , งูเมีย)
ฤกษ์ที่ ๑๒ อุตตรผลคุนี หรือ อุตรผลคุนี ( กลุ่มดาวเพดานหลัง ,ดาวเพดานเรียงกัน ,งูเหลือม)
ฤกษ์ที่ ๑๓ หัสตะ ( กลุ่มดาวศอกคู้ หรือ ฝ่ามือ ,เหนียงสัตว์)
ฤกษ์ที่ ๑๔ จิตรา ( กลุ่มดาวตาจรเข้ ,ไต้ไฟ ,มีพรรณดังแก้วไพฑูรย์ )
ฤกษ์ที่ ๑๕ สวาติ หรือสวาตี ( กลุ่มดาวช้างพัง,กองแก้ว ,กระออมน้ำ ,รูปเหนียงผูกคอสุนัข )
ฤกษ์ที่ ๑๖ วิสาขะ ( กลุ่มดาวแขนนาง หรือ เขากระบือ ,ดาวคันฉัตร ,ไม้ฆ้อง)
ฤกษ์ที่ ๑๗ อนุราธะ ( กลุ่มดาวหมี หรือ หน้าไม้ ,หงอนนาค , ดาวประจำฉัตร)
ฤกษ์ที่ ๑๘ เชฎฐา หรือ เชษฐา ( กลุ่มดาวแพะ หรือ ช้างใหญ่ ,งาช้าง ,คอนาค ,มีรูปคด)
ฤกษ์ที่ ๑๙ มูละ ( กลุ่มดาวช้างน้อย,สะดือนาค )
ฤกษ์ที่ ๒๐ ปุรพาษาฒ ( กลุ่มดาวแรดตัวผู้ หรือ ช้างพลาย ,ดาวสัปคับช้าง,ปากนก )
ฤกษ์ที่ ๒๑ อุตตราษาฒ ( กลุ่มดาวแรดตัวตัวเมีย หรือ ช้างพัง ,แตรงอน ,รูปครุฑ)
ฤกษ์ที่ ๒๒ สราวณะ หรือ ศรวณะ ( กลุ่มดาวคนจำศีล ,ดาวหลักชัย ,หามผีหรือหามโลง )
ฤกษ์ที่ ๒๓ ธนิษฐา หรือ ธนิษฐะ ( กลุ่มดาวกา ,ดาวไซ )
ฤกษ์ที่ ๒๔ สคภิสัท หรือ ศตภิษัช ( กลุ่มดาวมังกร หรือ งูเลื้อย ,ดาวพิมพ์ทอง )
ฤกษ์ที่ ๒๕ ปูราภัทรปท หรือ บุรพภัทรบท ( กลุ่มดาวราชสีห์ตัวผู้ ,หัวเนื้อทราย)
ฤกษ์ที่ ๒๖ อุตตรภัทร หรือ อุตรภัทรบท ( กลุ่มดาวราชสีห์ตัวเมีย ,ดาวไม้เท้า )
ฤกษ์ที่ ๒๗ เรวดี หือ เรวตี ( กลุ่มดาวปลาตะเพียน ,ดาวปลาตะเพียนคู่ ,รูปไซดักปลา ,หญิงท้อง)
กลุ่มดาวฤกษ์นี้ ผมพยายามหาข้อมูลจากหลายที่ หลายอาจารย์ เช่น อ.สอ้าน นาคเพชรพลู (ท่านเขียนรายละเอียดไว้มากทีเดียว), อ.อรุณ ลำเพ็ญ , อ.เทพย์ สาริกบุตร ,อ.พลูหลวง เป็นต้น ถ้าเนื้อหาตกไป หรือมีข้อผิดพลาดประการใด ก็เป็นเพราะผมเองที่คัดลอกมาไม่ดี
ดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่ม (นักษัตร) นั้นจัดเป็นหมวดหมู่ได้ ๙ หมวดฤกษ์ คือ
หมวดฤกษ์ที่ ๑ ทลิทโทฤกษ์ คือ ผู้ขอ , ผู้ยากจน
หมวดฤกษ์ที่ ๒ มหัทธโนฤกษ์ คือ เศรษฐี ,ผู้มั่งคั่ง
หมวดฤกษ์ที่ ๓ โจโรฤกษ์ คือ โจร ,ผู้ช่วงชิง
หมวดฤกษ์ที่ ๔ ภูมิปาโลฤกษ์ คือ รักษาแผ่นดิน
หมวดฤกษ์ที่ ๕ เทศาตรีฤกษ์ คือ สัญจร ,เร่ร่อน ,โสเภณี
หมวดฤกษ์ที่ ๖ เทวีฤกษ์ คือ นางกษัตริย์ , หญิงสูงศักดิ์
หมวดฤกษ์ที่ ๗ เพชฌฆาตฤกษ์ คือ ผู้ฆ่า
หมวดฤกษ์ที่ ๘ ราชาฤกษ์ คือ พระเจ้าแผ่นดิน , ผู้เป็นใหญ่
หมวดฤกษ์ที่ ๙ สมโณฤกษ์ คือ ผู้สงบ ,สงฆ์ ,ชีพราหมณ์
หมวดฤกษ์ที่ ๑ ทลิทโทฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๑ ๑๐ ๑๙
หมวดฤกษ์ที่ ๒ มหัทธโนฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๒ ๑๑ ๒๐
หมวดฤกษ์ที่ ๓ โจโรฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๓ ๑๒ ๒๑
หมวดฤกษ์ที่ ๔ ภูมิปาโลฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๔ ๑๓ ๒๒
หมวดฤกษ์ที่ ๕ เทศาตรีฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๕ ๑๔ ๒๓
หมวดฤกษ์ที่ ๖ เทวีฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๖ ๑๕ ๒๔
หมวดฤกษ์ที่ ๗ เพชฌฆาตฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๗ ๑๖ ๒๕
หมวดฤกษ์ที่ ๘ ราชาฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๘ ๑๗ ๒๖
หมวดฤกษ์ที่ ๙ สมโณฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๙ ๑๘ ๒๗
ความหมายหมวดฤกษ์ด้านบนนี้ เป็นเพียงความหมายอย่างย่อเท่านั้น ท่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือของ อ. พันเอก(พิเศษ) เอื้อน มนเทียรทอง , อ.ญาณ เป็นต้น
ในการพยากรณ์ดวงชะตาโดยใช้ ดวงตรียางค์จักร ดวงนวางศ์จักร(ไส้ชะตา) ฤกษ์ เข้าร่วมกับ ดาวราศีจักรนั้น มีกลวิธีที่ซับซ้อน หลายประการ แต่ก็มีหลายตำหรับให้แบ่งการพยากรณ์ดวง ทั้ง ๓ แบบดังนี้
ดวงราศีจักร ใช้พยากรณ์ ตั้งแต่ ๑ - ๒๕ ปี
ดวงตรียางค์จักร ใช้พยากรณ์ ตั้งแต่ ๒๖ - ๕๐ ปี
ดวงนวางศ์จักร ใช้พยากรณ์ ตั้งแต่ ๕๑ - ๗๕ ปี
ที่พบเห็นมากก็คือ ตั้งดวงนวางศ์จักร ขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่วมกับ ดวงราศีจักร โดยนำดาวในราศีจักร มาพิจารณาถึงคุณภาพดาว ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าดาวนั้นๆ มีคุณภาพเช่นไร ดวงนวางศ์จักร จึงถูกเรียกว่า ไส้ชะตา
ถ้าสนใจต้องการ ทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็ลองหาหนังสือของ ท่านอาจารย์ทั้งหลายที่ผม กล่าวถึงข้างต้น มาศึกษาดู ครับ