ฤกษ์งามยามดีและการให้ฤกษ์ ตอนที่ ๒ เรียบเรียงโดย ปราณเวท
การให้ฤกษ์นั้น ในเบื้องต้นเราต้องทราบก่อนว่า ฤกษ์คือ อะไร และมีไว้เพื่ออะไร ?
ฤกษ์ ก็คือ การกำหนดเวลาที่จะทำการ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ถ้าแปลตามพจนานุกรม ก็คือ เริก] น. คราวหรือเวลาที่กําหนดหรือคาดว่าจะให้ผล เช่น ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้ายมักนิยมใช้ในทางดี เช่นหาฤกษ์แต่งงาน หาฤกษ์ยกเสาเอก. (ส.).[เริก] น. หมี ดาวจระเข้ ดาวนพเคราะห์. (ส.).[เริก] น. เรียกดาวที่มีลักษณะเป็นกลุ่มแก๊สทรงกลมที่สามารถแผ่รังสีออกได้รอบตัวว่า ดาวฤกษ์.)
การกำหนดฤกษ์งาม ยามดี โหราจารย์ท่านพิจารณาจากหลายปกรณ์ ซึ่งได้แก่ ฤกษ์ , หมวดฤกษ์ , ตรียางค์ , นวางศ์ ,การวางลัคนาดวงฤกษ์ , ทักษา, กาลโยค ,วันภาณฤกษ์-อายกรรมพราย, ดิถี ดี-ร้าย ,ดิถีมหาสูญ, ดิถีพิฆาต , จักขุมายา ,กนกนารี ,กนกบัญชร ,เพ็ชรฤกษ์ ,มหาฤกษ์ , กทิงวัน ,อัคนิโรธ ฯลฯ และยังมีฤกษ์ต้องห้าม ดิถีต้องห้าม วันต้องห้าม ต่างๆ อีก หลายปกรณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่การหาฤกษ์จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก สับสน หาวันที่ดีพร้อม ร้อยเปอร์เซ็นต์ แทบไม่มี แถมถ้าใช้ปฏิทินต่างกัน (ปฏิทินสุริยยาตร์ หรือ นิรายะนะ) ก็จะทำให้ได้ฤกษ์ต่างกันอีก เพราะฉะนั้นท่านโหราจารย์ จึงกำหนด ปกรณ์หลักๆ ไว้กลุ่มหนึ่ง เพื่อพิจารณาหาฤกษ์ ปกรณ์ไหนที่ให้ผลเบา ก็จะไม่นำมาใช้ หรือใช้น้อยลง
หัวข้อปกรณ์ที่กล่าวมานั้น ผมอยากทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกซักเล็กน้อย ก่อนที่จะว่ากันต่อ คือ ในยุคสมัยก่อนนั้น ผมเข้าใจเองว่า ศาสตร์พยากรณ์ ที่ใช้กันอยู่นั้นน่าจะ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายโหร กับ หมอดูชาวบ้าน เรื่องฤกษ์ก็เช่นกัน กล่าวคือ ฝ่ายโหร จะใช้ โหราศาสตร์ (ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องดวงดาว การโคจรของดวงดาว ระบบราศีจักร เน้น เรื่อง ฤกษ์ ตรียางค์ นวางศ์) ส่วนฝ่ายหมอดูชาวบ้าน ก็จะเน้น ทักษา กาลโยค ดิถี วัน เดือน ทำการต่างๆ ไม่เน้นการคำนวณ หาฤกษ์ พอมาถึงยุคสมัยหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งสองฝ่ายนี้ ก็เริ่มถูกนำมาใช้ผสมผสาน รวมกันมากขึ้น กลายเป็นว่า มีปกรณ์ หลักเกณฑ์ ที่ต้องนำมาพิจารณาหาฤกษ์เพิ่มมากขึ้น ในแต่ละฝ่าย
อีกประเด็นหนึ่งตามความคิดของผมเห็นว่า นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่มีการเรียก ฤกษ์ให้แตกต่างกันระหว่างฤกษ์บน กับ ฤกษ์ล่าง กล่าวคือ ฤกษ์บน จะเป็นเรื่องของตรียางค์ นวางศ์ ฤกษ์ (ฝายโหร) ส่วนฤกษ์ล่าง ก็เป็นวัน ดิถี หรือเรียกว่า ฤกษ์ชาวบ้าน(ฝ่ายหมอดูชาวบ้าน)
ที่ผมจึงคิดเช่นนั้น ก็เพราะว่า ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงรัตนโกสินทร์ ผู้ที่จะมีความรู้ อ่านออก เขียนได้ คำนวณสูตรต่างๆ ที่ซับซ้อน ได้ ไม่น่าจะเป็นชาวบ้าน ธรรมดาสามัญ คงต้องเป็นกลุ่มพราหมณ์ เจ้าขุน มูลนาย ผู้มีชาติตระกูลดี หรือไม่ก็ คงเป็นพระ ที่บวชเรียนอยู่หลายปี จึงจะสามารถ เรียนรู้เข้าใจปกรณ์ต่างๆ ของฤกษ์ (ฤกษ์บน) ได้ ด้วยเหตุนี้ ฤกษ์ชาวบ้าน ก็ควรจะเป็นปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน ยุ่งยาก มากนัก
ว่ากันต่อครับ สำหรับตอนที่ ๒ นี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ ตรียางค์ , นวางศ์,ฤกษ์ กันก่อนครับ(ขอเป็นคร่าวๆ เป็นหลักใหญ่นะครับ รายละเอียดปลีกย่อย ขอไม่กล่าวถึงนะครับ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้ คนที่จะเข้าใจได้ก็ต้องศึกษาโหราศาสตร์ มาในระดับหนึ่งก่อน จึงจะเข้าใจ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน การหา ตรียางค์ นวางศ์ ฤกษ์ นี้แสนจะง่ายดาย เพียงปลายนิ้วสัมผัส เพราะมี โปรแกรมโหราศาสตร์ สำเร็จรูป และ อินเตอร์เน็ต ก็ตาม เอาล่ะครับ เรามาทำความรู้จัก กันได้เลย
ตรียางค์
ตรียางค์ (ตรีย + อังศะ ในส่วนภาษาบาลี สันสกฤต ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะมี อาจารย์หลายท่าน เขียนต่างกัน แต่เมื่อแปลแล้วมีความหมายใกล้เคียงกันคือ แบ่งเป็นสามส่วน )
ใน ๑ ราศีจะมี ๓ ตรียางค์
ตรียางค์ ที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ ตรียางค์พิษ หรือ ตรียางค์ลูกพิษ ซึ่งหมายถึง จุดเสียที่อยู่ในทุกราศี ราศีละ ๑ ตรียางค์ ลัคนาหรือดาวใด ต้องลูกพิษ ก็จะทำให้จุดนั้นเสื่อม โหราจารย์สมัยก่อนท่านยึดถือสำคัญมาก ถึงกับสาปแช่งไว้ว่า ผู้ใดวางลัคนาดวงฤกษ์ต้องลูกพิษ ผู้ให้ฤกษ์จะต้องตาบอด ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภท คือ
ตรียางค์พิษนาค ปฐมตรียางค์ คือ ๑ - ๑๐ องศา ในราศี เมษ กันย์ ธนู มีน
จะมีโทษจากสัตว์น้ำ สัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น ภัยทางน้ำ น้ำเหลืองเสีย
ตรียางค์พิษครุฑ ทุติยตรียางค์ คือ ๑๑ - ๒๐ องศา ในราศี พฤษภ สิงห์ ตุลย์ กุมภ์
จะมีโทษจากสัตว์ที่บินได้ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น ภัยทางอากาศ ตกจากที่สูง แพ้อากาศ
ตรียางค์พิษสุนัข(เขี้ยวสุกร) ตติยตรียางค์ คือ ๒๑ - ๓๐ องศา ในราศี มิถุน กรกฏ พิจิก มังกร
จะมีโทษจากสัตว์บก หรือสัตว์สี่เท้า เขี้ยวงา เช่น สุนัข เสือ ช้าง โค เป็นต้น ภัยทางบก ยานพาหนะ
นวางศ์
นวางศ์ (นวะ + อังศะ) แปลว่า แบ่งออกเป็นเก้าส่วน หรือ หนึ่งในเก้าส่วน ( ๑ ราศีมี ๙ นวางศ์)
นวางศ์มีทั้งหมด ๙ ลูก แต่ละลูกมี ๓ องศา ๒๐ ลิปดา มีชื่อเรียกตามลำดับเลข คือ
ปฐมนวางศ์ ทุติยนวางศ์ ตติยนวางศ์ จัตุถนวางศ์ ปัญจมนวางศ์ ฉัฐมนวางศ์ สัตมนวางศ์ อัฐมนวางศ์ นวมนวางศ์ ซึ่งเมื่อเรานำมาใช้ เกี่ยวกับฤกษ์ เราจะเรียกว่า บาทฤกษ์ (๑ ฤกษ์มี ๔ นวางศ์)
พระเคราะห์เสวยวรโคตมนวางศ์
หมายถึง ดาวหรือ ลัคนา มีองศาอยู่ในนวางศ์ที่ได้ วรโคตมนวางศ์ ซึ่งเป็น นวางศ์ที่ทรงคุณภาพสูงสุดในราศีนั้น ถึงแม้จะมีจุดเสียอื่น ก็จะคุ้มโทษได้ มีกฏเกณฑ์ดังนี้
จรราศี (ราศีแม่ธาตุ) อันได้แก่ราศี เมษ กรกฏ ตุลย์ มังกร กำหนดให้ นวางศ์ลูกที่ ๑ เป็น วรโคตมนวางศ์
สถิรราศี (ราศีกลางธาตุ) อันได้แก่ราศี พฤษภ สิงห์ พิจิก กุมภ์ กำหนดให้ นวางศ์ลูกที่ ๕ เป็น วรโคตมนวางศ์
อุภัยราศี (ราศีปลายธาตุ) อันได้แก่ราศี มิถุน กันย์ ธนู มีน กำหนดให้ นวางศ์ลูกที่ ๙ เป็น วรโคตมนวางศ์
นวางศ์ปุเอก (นวางศ์ปุ ชั้นเอก) และ นวางศ์ปุโท (นวางศ์ปุ ชั้นโท)
นวางศ์ปุเอก เป็นนวางศ์ที่คุ้มโทษได้ตลอด ถึงแม้จะเป็นนวางศ์เสียในหลักเกณฑ์อื่นก็ตาม ส่วนนวางศ์ปุโท ก็จะช่วยให้นวางศ์เสีย นั้นทุเลาเบาลงได้
นวางศ์ปุเอก นวางศ์ปุโท
ราศีเมษ นวางศ์ลูกที่ ๔ ๖ ๘ นวางศ์ลูกที่ ไม่มี
ราศีพฤษภ นวางศ์ลูกที่ ๖ ๗ นวางศ์ลูกที่ ๓
ราศีมิถุน นวางศ์ลูกที่ ๖ ๙ นวางศ์ลูกที่ ๒ ๓ ๔
ราศีกรกฏ นวางศ์ลูกที่ ๕ นวางศ์ลูกที่ ไม่มี
ราศีสิงห์ นวางศ์ลูกที่ ๘ นวางศ์ลูกที่ ๔
ราศีกันย์ นวางศ์ลูกที่ ๖ ๗ นวางศ์ลูกที่ ไม่มี
ราศีตุลย์ นวางศ์ลูกที่ ๖ นวางศ์ลูกที่ ไม่มี
ราศีพิจิก นวางศ์ลูกที่ ๕ นวางศ์ลูกที่ ไม่มี
ราศีธนู นวางศ์ลูกที่ ๔ ๘ นวางศ์ลูกที่ ๙
ราศีมังกร นวางศ์ลูกที่ ๗ นวางศ์ลูกที่ ไม่มี
ราศีกุมภ์ นวางศ์ลูกที่ ๖ นวางศ์ลูกที่ ๘
ราศีมีน นวางศ์ลูกที่ ๔ ๕ ๙ นวางศ์ลูกที่ ๖ ๗ ๘
ฤกษ์
คือ กลุ่มดาวบนท้องฟ้า เป็นดาวที่ตรึงอยู่กับที่ ไม่เปลี่ยนแปลง เรียงรายกันอยู่รอบจักรราศี เหมือนกับ ราศี รวมกันเป็นหมู่ๆ มี ๒๗ หมู่ หรือ ๒๗ ฤกษ์(นักษัตร) คนสมัยก่อนจะเฝ้าสังเกต การโคจรของ ดวงจันทร์ ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ต่างๆ แล้วนำมาพยากรณ์ ชะตาชีวิตและความเป็นไปของ บุคคลต่างๆ และยังนำมาใช้ในการกำหนดเวลากระทำการต่างๆ อีกด้วย
ฤกษ์ที่ ๑ อัศวิณี หรือ อัศวินี ( กลุ่มดาวม้า ,รูปคอม้า ,หางหมู)
ฤกษ์ที่ ๒ ภรณี ( กลุ่มดาวแม่ไก่ หรือ ก้อนเส้า ,ดาวธงสามเหลี่ยม )
ฤกษ์ที่ ๓ กฤตติกา หรือ กฤติกา ( กลุ่มดาวลูกไก่ ,ดาวธงสามเหลี่ยมหางยาว)
ฤกษ์ที่ ๔ โรหิณี ( กลุ่มดาวจมูกม้า หรือ คางหมู ,ดาวไม้ค้ำเกวียน)
ฤกษ์ที่ ๕ มฤคศิระ ( กลุ่มดาวหัวเนื้อ ,หัวเต่า )
ฤกษ์ที่ ๖ อราทรา หรือ อารทรา ( กลุ่มดาวฉัตร,ดาวตาสำเภา,รูปเหมือนหนึ่งแก้วปัทมราช )
ฤกษ์ที่ ๗ ปุนรวสุ หรือ ปุนัพสุ ( กลุ่มดาวสำเภาทอง ,ดาวชัย ,หัวสำเภา)
ฤกษ์ที่ ๘ ปุษยะ หรือ บุษยะ ( กลุ่มดาวปุยฝ้าย ,พวงดอกไม้,ดาวสมอสำเภา,ดอกบัวหลวง หรือดาวรูปหีบ) ฤกษ์ที่ ๙ อาศเลษะ หรือ อาศเลษา ( กลุ่มดาวแมว หรือ พ้อม,เรือน ,คู้ข้อศอก ,แขนคู้ )
ฤกษ์ที่ ๑๐ มาฆะ หรือ มฆา ( ดาววานร หรือ งอนไถ , งูผู้ , ดาวโคมูตร)
ฤกษ์ที่ ๑๑ ปุรพผลคุนี หรือ บุรพผลคุนี ( กลุ่มดาวเพดานหน้า , งูเมีย)
ฤกษ์ที่ ๑๒ อุตตรผลคุนี หรือ อุตรผลคุนี ( กลุ่มดาวเพดานหลัง ,ดาวเพดานเรียงกัน ,งูเหลือม)
ฤกษ์ที่ ๑๓ หัสตะ ( กลุ่มดาวศอกคู้ หรือ ฝ่ามือ ,เหนียงสัตว์)
ฤกษ์ที่ ๑๔ จิตรา ( กลุ่มดาวตาจรเข้ ,ไต้ไฟ ,มีพรรณดังแก้วไพฑูรย์ )
ฤกษ์ที่ ๑๕ สวาติ หรือ สวาตี ( กลุ่มดาวช้างพัง,กองแก้ว ,กระออมน้ำ ,รูปเหนียงผูกคอสุนัข )
ฤกษ์ที่ ๑๖ วิสาขะ ( กลุ่มดาวแขนนาง หรือ เขากระบือ ,ดาวคันฉัตร ,ไม้ฆ้อง)
ฤกษ์ที่ ๑๗ อนุราธะ ( กลุ่มดาวหมี หรือ หน้าไม้ ,หงอนนาค , ดาวประจำฉัตร)
ฤกษ์ที่ ๑๘ เชฎฐา หรือ เชษฐา ( กลุ่มดาวแพะ หรือ ช้างใหญ่ ,งาช้าง ,คอนาค ,มีรูปคด)
ฤกษ์ที่ ๑๙ มูละ ( กลุ่มดาวช้างน้อย,สะดือนาค )
ฤกษ์ที่ ๒๐ ปุรพาษาฒ ( กลุ่มดาวแรดตัวผู้ หรือ ช้างพลาย ,ดาวสัปคับช้าง,ปากนก )
ฤกษ์ที่ ๒๑ อุตตราษาฒ ( กลุ่มดาวแรดตัวตัวเมีย หรือ ช้างพัง ,แตรงอน ,รูปครุฑ)
ฤกษ์ที่ ๒๒ สราวณะ หรือ ศรวณะ ( กลุ่มดาวคนจำศีล ,ดาวหลักชัย ,หามผีหรือหามโลง )
ฤกษ์ที่ ๒๓ ธนิษฐา หรือ ธนิษฐะ ( กลุ่มดาวกา ,ดาวไซ )
ฤกษ์ที่ ๒๔ สคภิสัท หรือ ศตภิษัช ( กลุ่มดาวมังกร หรือ งูเลื้อย ,ดาวพิมพ์ทอง )
ฤกษ์ที่ ๒๕ ปูราภัทรปท หรือ บุรพภัทรบท ( กลุ่มดาวราชสีห์ตัวผู้ ,หัวเนื้อทราย)
ฤกษ์ที่ ๒๖ อุตตรภัทร หรือ อุตรภัทรบท ( กลุ่มดาวราชสีห์ตัวเมีย ,ดาวไม้เท้า )
ฤกษ์ที่ ๒๗ เรวดี หรือ เรวตี ( กลุ่มดาวปลาตะเพียน ,ดาวปลาตะเพียนคู่ ,รูปไซดักปลา ,หญิงท้อง)
กลุ่มดาวฤกษ์นี้ ผมพยายามหาข้อมูลจากหลายที่ หลายอาจารย์ เช่น อ.สอ้าน นาคเพชรพลู (ท่านเขียนรายละเอียดไว้มากทีเดียว), อ.อรุณ ลำเพ็ญ , อ.เทพย์ สาริกบุตร ,อ.พลูหลวง เป็นต้น ถ้าเนื้อหาตกไป หรือมีข้อผิดพลาดประการใด ก็เป็นเพราะผมเองที่คัดลอกมาไม่ดี
ส่วนตำนานดาวฤกษ์ ผมขออนุญาตไม่พิมพ์ นะครับ เพราะมันจะเยอะมาก ถ้าสนใจก็สามารถ เสริซหามาอ่านได้ในอินเตอร์เน็ต ครับ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ฤกษ์ทั้ง ๒๗ ฤกษ์นี้ สำหรับผมแล้ว ผมไม่ค่อยคำนึงถึงเท่าไร จะใช้หลักใหญ่ หมวดฤกษ์มากกว่า ครับ
ฉินทฤกษ์ ,ฤกษ์ขาด(นวางศ์ขาด) ,ภินทุบาท(ติณฤกษ์)
ลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นฤกษ์เสีย ไม่เหมาะแก่งานมงคล แต่ก็อาจจะใช้ได้กับงานบางอย่าง
ฉินทฤกษ์ มี ๒ ลักษณะคือ
เอกตรีนิ คือ ฤกษ์ ที่บาทฤกษ์ นวางศ์ลูกที่ ๙ ของราศีธาตุไฟ(เมษ, สิงห์,ธนู) ไปคาบเกี่ยวกับอีก ๓ นวางศ์ ในราศีธาตุดิน ถัดไป(พฤษภ,กันย์,มังกร) ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๓ , ๑๒ , ๒๑ ซึ่งอยู่ในหมวด โจโรฤกษ์
ตรีนิเอก คือ ฤกษ์ ที่ นวางศ์ลูกที่ ๗ – ๙ ของราศีธาตุลม (มิถุน ,ตุลย์, กุมภ์) คาบเกี่ยวกับอีก ๑ นวางศ์ในราศีธาตุน้ำ ถัดไป(กรกฏ,พิจิก,มีน) ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๗ , ๑๖ , ๒๕ ซึ่งอยู่ในหมวด เพชฌฆาตฤกษ์
ฤกษ์ขาด (นวางศ์ขาด)
คือ ฤกษ์ที่ไม่มีบาทฤกษ์(นวางศ์) คาบเกี่ยวกัน สองราศี (สุดฤกษ์ ก็สุดราศีพอดี ไม่มีการคาบเกี่ยวไปอีกในราศีถัดไป) ซึ่งก็คือ ปลายราศีธาตุน้ำ ต้นราศีธาตุไฟ (กรกฎ-สิงห์ ,พิจิก-ธนู ,มีน-เมษ)
ภินทุบาท(ติณฤกษ์,ฤกษ์อกแตก)
คือ ฤกษ์ที่คร่อมราศี สองบาทฤกษ์แรก อยู่ราศีธาตุดิน อีกสองบาทฤกษ์หลัง อยู่ในราศีธาตุลม ถัดไป(พฤษภ-มิถุน, กันย์-ตุลย์, มังกร-กุมภ์) ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๕ ,๑๔ ,๒๓ ซึ่งอยู่ในหมวด เทศาตรีฤกษ์
หมวดฤกษ์
ดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่ม (นักษัตร) นั้นจัดเป็นหมวดหมู่ได้ ๙ หมวดฤกษ์ คือ
หมวดฤกษ์ที่ ๑ ทลิทโทฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๑ ๑๐ ๑๙
หมวดฤกษ์ที่ ๒ มหัทธโนฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๒ ๑๑ ๒๐
หมวดฤกษ์ที่ ๓ โจโรฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๓ ๑๒ ๒๑
หมวดฤกษ์ที่ ๔ ภูมิปาโลฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๔ ๑๓ ๒๒
หมวดฤกษ์ที่ ๕ เทศาตรีฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๕ ๑๔ ๒๓
หมวดฤกษ์ที่ ๖ เทวีฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๖ ๑๕ ๒๔
หมวดฤกษ์ที่ ๗ เพชฌฆาตฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๗ ๑๖ ๒๕
หมวดฤกษ์ที่ ๘ ราชาฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๘ ๑๗ ๒๖
หมวดฤกษ์ที่ ๙ สมโณฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๙ ๑๘ ๒๗
หมวดฤกษ์ที่ ๑ ทลิทโทฤกษ์ คือ ผู้ขอ , ผู้ยากจน
เป็นฤกษ์ที่เหมาะแก่การขอ ขอหมั้นหมาย ขอเช่า ขอยืม ทวงหนี้สิน ขอรับบริจาค (ดาวอาทิตย์ เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๒ มหัทธโนฤกษ์ คือ เศรษฐี ,ผู้มั่งคั่ง
เหมาะแก่งานมงคลต่างๆ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ยกเสาเอก วางศิลาฤกษ์ เปิดธนาคาร เปิดบริษัท ห้างร้าน เปิดร้านเพชร ทอง ค้าขาย ลาสิกขาบท (ดาวจันทร์ เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๓ โจโรฤกษ์ คือ โจร ,ผู้ช่วงชิง
ฤกษ์นี้ไม่เหมาะแก่งานมงคล เป็นฉินทฤกษ์ (เอกตรีนิ) เหมาะแก่การจู่โจมปราบปรามจับผู้ร้าย ปล้นค่ายตีทัพข้าศึก ฟ้องขับไล่ เดินทางผจญภัย เข้าป่า การแข่งขัน (ดาวอังคาร เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๔ ภูมิปาโลฤกษ์ คือ รักษาแผ่นดิน
เป็นฤกษ์ที่เหมาะแก่งานมงคลต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ซื้อที่ดิน ปลูกสร้างบ้าน ตั้งศาลพระภูมิ เจ้าที่ เปิดบริษัท ปลูกต้นไม้ งานเกษตร (ดาวพุธ เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๕ เทศาตรีฤกษ์ คือ สัญจร ,เร่ร่อน ,โสเภณี
ไม่เหมาะกับงานมงคลทั่วไป เป็นฤกษ์ที่เหมาะแก่งาน เปิดโรงแรม โรงภาพยนตร์ อาบอบนวด ไนต์คลับ สถานบันเทิง งานท่องเที่ยว การเดินทางไกล ทัวร์ต่างประเทศ บริษัทนำเข้า-ส่งออก (ดาวเสาร์ เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๖ เทวีฤกษ์ คือ นางกษัตริย์ , หญิงสูงศักดิ์
เป็นฤกษ์ที่เหมาะแก่งาน แต่งงาน ฤกษ์ส่งตัวเข้าหอ ขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้านขายของสำหรับสตรี เสริมสวยสตรี (ดาวพฤหัสบดี เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๗ เพชฌฆาตฤกษ์ คือ ผู้ฆ่า
ไม่เหมาะกับงานมงคล เป็นฤกษ์ที่เหมาะแก่การ รบทัพจับศึก ปราบโจรผู้ร้าย เปิดค่ายทหาร สถานีตำรวจ ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ล้างอาถรรพ์ ต้องการตัดขาด โรงฆ่าสัตว์ (ดาวราหู เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๘ ราชาฤกษ์ คือ พระเจ้าแผ่นดิน , ผู้เป็นใหญ่
เป็นฤกษ์ที่เหมาะแก่ บรมราชาภิเษก ปลูกบ้าน ขึ้นบ้านใหม่ เปิดสถานที่ราชการ รับตำแหน่ง ลาสิกขาบท (ดาวศุกร์ เป็นผู้รักษาฤกษ์)
หมวดฤกษ์ที่ ๙ สมโณฤกษ์ คือ ผู้สงบ ,สงฆ์ ,ชีพราหมณ์
เป็นฤกษ์ที่เหมาะแก่งานทางศาสนา งานที่ต้องการความสงบ วิปัสสนากรรมฐาน อุปสมบท ก่อสร้างวัดโบสถ์ งานพุทธาภิเษก หล่อพระพุทธรูป ยกศาลพระภูมิ งานที่ไม่แสวงหาผลกำไร (ดาวเกตุ เป็นผู้รักษาฤกษ์)
ตำราเรื่องฤกษ์ที่เกี่ยวกับ ฤกษ์บน นี้ส่วนใหญ่มักจะมีปกรณ์ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น นวางศ์ปุ เอก-โท ผมได้ตรวจทาน จากตำราของอาจารย์ ๕ ท่าน(ตำราของอาจารย์ท่านอื่นๆ อีกหลายท่านไม่ได้กล่าวถึง)พบว่ารายละเอียด ไม่ตรงกัน ผมจึงยึดเอาตำราของ อ.เทพย์ สาริกบุตร เป็นหลักครับ
แล้วพบกับ ตอนที่ ๓ ได้ในสัปดาห์หน้าครับ
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐