ฤกษ์งามยามดีและการให้ฤกษ์ ตอนที่ ๑ เรียบเรียงโดย ปราณเวท
ในเรื่องการให้ฤกษ์นี้ คนที่รู้จักผมดี รวมทั้งลูกศิษย์ที่เรียนกับผม จะทราบกันดี ว่า ตัวผมนั้นไม่ค่อยจะให้ฤกษ์กับใคร หรือ นำฤกษ์มาใช้มากนัก จะนำมาใช้บ้างก็บางกรณี บางครั้งบางคราว ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ก็เพราะว่าในมุมมองของผม ฤกษ์ที่ดีที่สุดก็คือ “ฤกษ์ที่สะดวกพร้อม เหมาะสม ถูกกาลเทศะ” ซึ่งเป็นไปตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า “ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์นั่นแหละเป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้”
ลองอ่านบทความด้านล่างนี้ดูก่อนนะครับ
(บทความจากเว็บ ธรรมะไทย)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภเรื่องประโยชน์ของฤกษ์ เรื่องมีอยู่ว่า
วันหนึ่ง มีชาวบ้านนอกคนหนึ่ง ไปขอสาวในเมืองสาวัตถีให้ลูกชายของตน พร้อมกำหนดนัดวันแต่งงานไว้แล้ว ครั้นถึงวันแต่งานได้ไปสอบถามฤกษ์กับนักบวชอาชีวกว่าดีหรือไม่ นักบวชอาชีวกโกรธที่เขาไม่ได้มาปรึกษาก่อนในคราวแรกจึงพูดว่า " วันนี้ฤกษ์ไม่ดี ท่านอย่ากระทำการมงคลใดๆ ขืนทำลงไปจะเกิดความพินาศ " พวกเขาพากันเชื่ออาชีวกจึงไม่ได้ไปรับตัวเจ้าสาวในวันนั้น
ฝ่ายชาวเมืองสาวัตถีได้จัดเตรียมงานมงคลไว้พร้อมเพรียงแล้ว แต่ไม่เห็นพวกเจ้าบ่าวมารับเจ้าสาวสักที จึงตกลงกันว่า " พวกนั้น กำหนดนัดวันนี้แล้วกลับไม่เห็นมา งานของพวกเราก็ใกล้จะเสร็จแล้ว พวกเราจะยกลูกสาวให้คนอื่นไปเสีย " จึงได้จัดงานแต่งงานด้วยมงคลที่ได้เตรียมไว้แล้วนั้น
ในวันรุ่งขึ้นพวกบ้านนอกที่ขอไว้ก็มาถึง ทันทีที่เห็นหน้ากันพวกชาวเมืองก็พากันด่าพวกบ้านนอกว่า " พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดนัดวันไว้แล้ว กลับไม่มาตามนัด เชิญกลับไปตามทางที่มานั้นแหละ พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้วละ "
พวกชาวบ้านนอกจึงทะเลาะกับชาวเมืองด้วยเหตุอันนี้ เรื่องที่อาชีวกทำลายงานมงคลของผู้คนเป็นที่ทราบกันไปทั่ว แม้กระทั่งภิกษุในวัด
ในเย็นของวันหนึ่ง พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภาถามเรื่องประโยชน์ของฤกษ์แก่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
" ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่
ประโยชน์นั่นแหละเป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้ "
* เรื่องที่ ๙ ในอัตถกามวรรค หน้า ๔๙-๕๓ พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย) (ที่มาจากเว็บไซต์ ธรรมะไทย http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt119.php)
อ่านถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งวางตำรา เลิกอ่านกันนะครับ ใจเย็นๆ อย่างไรก็ตามในการศึกษาโหราศาสตร์ เรื่องฤกษ์ ก็เป็นวิชาที่มีความสำคัญ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากโหราศาสตร์ ได้ พอเป็นโหร ,หมอดู หรือ ถ้าใครเขารู้ว่า มีความรู้ด้านนี้ เขาก็มักจะมาขอคำปรึกษา หรือ ขอให้ช่วยกำหนดฤกษ์ ยามให้ ถ้าเราไม่มีความรู้เสียเลย ก็เหมือนจะขาดอาภรณ์ผืนงามไป ความสง่างามทางวิชาโหราศาสตร์ ก็จะลดน้อยลง “รู้แล้วไม่ได้ใช้ ก็ยังดีกว่า ที่ไม่ได้ใช้และ ก็ไม่รู้อะไรเลย” เพราะฉะนั้นเรามาเรียนรู้เรื่องการให้ฤกษ์กัน เพื่อความสง่างามของวิชาโหราศาสตร์ได้เลยครับ (เป็นตำราที่อารัมภบท ยาวมาก)
กฎเกณฑ์การให้ฤกษ์ นี้ ผมได้รวบรวม มาจากตำรา บทความ ของอาจารย์หลายๆ ท่าน เช่น อ. เทพย์ สาริกบุตร ,อ.พลู-หลวง , อ.จำรัส ศิริ , อ.อารมณ์ ชื่นเชาว์ไว ,อ.เอื้อน มณเทียรทอง, อ.เชย บัวก้านทอง,พันตรี หลวงวุฒิรณพัสดุ์ เป็นหลักใหญ่ ครับ
(ติดตามอ่าน ตอนที่ ๒ ได้ในสัปดาห์ถัดไป ครับ)