ทำบุญให้ได้ผลมาก โดย ปราณเวท
ช่วงนี้รู้สึกว่า ไปๆมาๆ เว็บโหราศาสตร์ จะกลายเป็น เว็บไสยศาสตร์ ไปแล้วครับ พอเริ่มเขียนก็เลยเพลิน เผลอเขียนไปตั้งหลายบท เขียนเกี่ยวกับ ไสยดำ ไปแล้วก็ขอเขียน เกี่ยวกับ ธรรมะ บ้างนะครับซึ่งเรื่องนี้ ผมอ่านเจอใน หนังสือ ธรรมลีลา เป็นบทความของ อ.วศิน อินทสระ (ซึ่งท่านก็เอาเนื้อหามาจาก หนังสือสิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง) อ่านแล้ว รู้สึกดี ก็เลยคัดลอก และสรุปบางส่วน มาให้อ่านกันครับ ความสมบูรณ์ และความสละสลวย ทางภาษา ต้นฉบับ ท่านเขียนไว้ดีมากๆ เลยครับ (ขอแนะนำให้หามาอ่านครับ) สำหรับผมก็ขอสรุป ให้อ่านดังนี้ครับ
หลายคน(รวมทั้งผมด้วย)เข้าใจว่า การทำบุญ นั้นคือ การทำบุญกับพระ ส่วนการทำทาน คือ การบริจาคให้แก่คนทั่วไป ซึ่งผิดครับ คำว่า "ทาน" แปลว่า การให้ ไม่ว่าจะให้ใคร ก็ใช้คำว่า "ทาน" นี่แหละ ส่วนคำว่า "บุญ" เกิดขึ้นจากการให้ อีกทีครับ ส่วนผลบุญ จะได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ หลายองค์ประกอบ ตามตำราทางพุทธศาสนา กล่าวว่า การทำบุญจะให้ผลมากหรือน้อย ประกอบด้วย สัมปทาคุณ ๔ ประการ ดังนี้
สัมปทา ๔ คือ ความพร้อมแห่งองค์ประกอบ ซึ่งจะทำให้ทานที่บริจาคแล้ว มีผลยอดเยี่ยม คือ
๑. วัตถุสัมปทา ความพร้อมแห่งวัตถุ หมายถึง ผู้รับ(ปฏิคาหก) หรือ ทักขิไณยบุคคล เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม ท่านมีคุณธรรมสูงมากเท่าใด ย่อมทำให้ ทานที่บริจาคไป มีผลมากขึ้นตามเท่านั้น
๒. ปัจจัยสัมปทา ความพร้อมแห่งปัจจัย หมายถึง สิ่งของที่ทายก นำมาทำบุญ นั้น ได้มาในทางบริสุทธิ์ ชอบธรรม
๓. เจตนาสัมปทา ความพร้อมแห่งเจตนา หมายถึง มีเจตนาดี เจตนาเพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือบูชาคุณด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้หวังลาภยศ หรือชื่อเสียง มีเจตนาดีทั้ง ๓ กาลคือ
- ปุพพเจตนา เจตนาที่จะบริจาคเกิดขึ้นในครั้งแรก มีความบริสุทธิ์ เกิด จากศรัทธา และเห็นคุณค่าในการบริจาคอย่างแท้จริง (ก่อนบริจาค)
- มุญจนเจตนา ในขณะที่กำลังบริจาคทานอยู่ ยังคงรักษาความรู้สึกนั้นไว้ ได้ไม่เกิดความเสียดาย หรือมีจิตใจเศร้าหมอง (ขณะบริจาค)
- อปราปรเจตนา หลังจากบริจาคทานเสร็จไปแล้ว ไม่เกิดความเสียดาย ทั้งเมื่อระลึกถึงการบริจาคของตน กลับมีความชื่นชมโสมนัส มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส (หลังบริจาค)
เจตนาที่ดีทั้ง ๓ กาล ต้องรักษาเจตนาอันเป็นกุศลไว้ นอกจากนี้ยังต้องประกอบไปด้วย ปัญญา ในการให้มิใช่ให้ด้วยความเขลา
๔. คุณาติเรกสัมปทา ความพร้อมแห่งคุณพิเศษของ ปฏิคาหก (คือผู้รับมีคุณพิเศษ) มีระบุในตำราว่า พระสารีบุตรบ้าง พระกัสสปบ้าง ออกจากนิโรธสมาบัติ ใหม่ๆ กำลังหิว ท่านจะพิจารณาหาคนที่ท่านควรจะไปโปรดในวันนั้น เพราะเมือท่านไปรับอาหาร จากผู้ใดในวันนั้น ผู้ที่ทำทาน ก็จะต้องได้สมบัติเป็นอันมาก ท่านจึงมักจะไปสงเคราะห์คนจน เพื่อให้เขาได้มีความสุขมากขึ้น
สำหรับคำกล่าวที่ว่า การทำบุญกับผู้มีศีลธรรม คุณธรรม จะได้ผลบุญมากนั้น มีเรื่องเล่าว่า
คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลถาม พระพุทธเจ้าว่า ควรทำบุญในที่ใด พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า ควรทำในที่ ที่เลื่อมใส พระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลถามว่า ทำบุญในที่ใดจึงมีผลมาก พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าถ้าต้องการผลมากก็ต้องทำในผู้มีศีลธรรม ถ้าทำในที่ผู้ที่ไม่มีศีลธรรม หามีผลมากเช่นนั้นไม่ ในที่อื่น ตรัสอธิบายขยายเรื่องนี้ว่า นาข้าวมีต้นหญ้าเป็นโทษ ปลูกข้าวลงในนาที่มีต้นหญ้ามาก ข้าวย่อมไม่งอกงามเพราะจะถูกต้นหญ้าเบียดเบียน การทำบุญให้ทานในผู้ที่เพียบแปร้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมไม่มีผลมากฉันนั้น.. ส่วนการทำบุญให้ทาน ในท่านผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมได้รับอานิสงส์ ประมาณมิได้ ด้วยเหตุนี้ คนทั้งหลายจึงนิยม ทำบุญกับพระภิกษุสามเณร โดยเชื่อว่า ท่านเป็นผู้มีศีลธรรมสูงกว่าคนสามัญ ในบรรดาภิกษุสามเณรด้วยกัน พุทธบริษัทก็นิยมทำบุญกับท่านที่มี อายุพรรษามาก บวชมานานมีคุณธรรม ด้วยเชื่อว่า ท่านจิตใจสูงกว่า บำเพ็ญบารมีมามากกว่า เป็นต้น
ทั้งหมด เป็นเนื้อหาบทความ ที่ผมคัดลอกบางตอนจาก หนังสือ ธรรมลีลา และมีการปรับข้อความบ้างเล็กน้อย ซึ่งได้จากเว็บที่ ลงเรื่อง สัมปทา ๔ ไว้ ก็หวังว่า จะเป็นประโยชน์แก่ท่าน ที่ต้องการทำบุญให้ได้อานิสงส์ผลบุญมากๆ ตอบสนองเร็วๆ ยังไง ก็ขออนุโมทนาบุญ ด้วยคนนะครับ