ธรรมะที่ หมอดู โหร ควรมี เรียบเรียงโดย ปราณเวท
เรื่องการถือศีล สำหรับผู้ที่ร่ำเรียนวิชาไสยศาสตร์ มนต์ คาถา โหราศาสตร์ ครูอาจารย์มักให้ถือศีล ๕ เป็นหลัก ทั้งนี้ก็แล้วแต่ครูอาจารย์ จะให้รับสัตย์ สัจจะ ว่าจะถือศีลข้อใดเป็นพิเศษ บางอาจารย์ก็ให้ยึดข้อ ๒ บางอาจารย์ ก็ให้ถือข้อ ๓ หรือ ๕ แล้วแต่ท่านจะกำหนด
แต่สำหรับการถือศีลของ หมอดู โหร ในมุมมองของผมนั้น ศีลข้อ ๔ มุสาวาท สำคัญที่สุด ด้วยเหตุที่ว่า หมอดู โหร ต้องใช้คำพูด การเจรจา ติดต่อสื่อสาร เป็นหลัก การพูดเท็จ พูดให้หลงผิด พูดล่อลวง จะทำให้ผู้ที่มารับการพยากรณ์ ได้รับความเดือดร้อน เสียหายมากขึ้น จึงเป็นศีลข้อที่สำคัญที่หมอดู โหร ควรถือไว้เป็นหลัก และ การรักษาศีลข้อนี้อย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้เป็นผู้ที่มีสัจจะ มีวาจาสิทธิ์ ส่งผลให้ การพยากรณ์มีความแม่นยำมากขึ้น ได้รับการเคารพนับถือ มากขึ้น
นอกจากจะถือศีล ๕ แล้ว สำหรับหมอดู โหร นักพยากรณ์ฯ ก็ควรยึดหลักธรรมะ คติธรรม ดังต่อไปนี้ ด้วยเช่นกัน
ธรรมะ สำหรับผู้ที่เริ่มเรียน โหราศาสตร์ ศาสตร์พยากรณ์ต่างๆ
► อิทธิบาท ๔ หลักธรรมสำคัญในศาสนาพุทธ ว่าด้วยเรื่องหนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต
๑. ฉันทะ หมายถึง ความรัก พอใจในสิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่ทำ
๒. วิริยะ หมายถึง ความพากเพียรและความขยันอย่างต่อเนื่อง
๓.จิตตะ หมายถึง ความเอาใจใส่ มุ่งมั่น และรับผิดชอบสิ่งนั้นๆ
๔. วิมังสา หมายถึง ความตระหนักไตร่ตรองถึง เหตุและผลด้วยปัญญา
ธรรมะ เพื่อดำรงตนเป็นหมอดู โหร ที่ดี
► ศีล ๕
๑. ปาณาติบาต เว้นจากการเบียดเบียนชีวิต ฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน เว้นจากการลักทรัพย์ นำสิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาต
๓. กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท เว้นจากการกล่าวเท็จ พูดไม่จริง (สำหรับหมอดู ถือว่าข้อนี้ สำคัญมาก)
๕. สุราเมรยมัชปมาทัฏฐาน เว้นจากการ ดื่มสุรายาเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
► ฆราวาสธรรม ๔ เป็นคุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ธรรมะของผู้ครองเรือน
๑. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน (สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น)
๒. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลด ละกิเลส และรักษาสัจจะ (สร้างปัญญา)
๓. ขันติ แปลว่า อดทน ทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว แน่วแน่ในจุดหมาย ไม่ท้อถอย ความอดทน อดกลั้นนี้ไม่ใช่เพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเสสด้วย (สร้างทรัพย์สมบัติ)
๔. จาคะ แปลว่า เสียสละ การให้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผู้อื่นได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น ความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือ ไม่ใจแคบเห็นแก่ตน หรือเอาแต่ใจตัว บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลส เพราะนั่นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่างๆ (สร้างมิตร)
► สังคหวัตถุ ๔ เป็นธรรมะที่ช่วยประสานคนหมู่มากให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความรักใคร่นิยมยินดีซึ่งกันและกัน เป็นวิธีที่จะผูกมิตร ประสานน้ำใจกันไว้
๑. ทาน การให้ การสงเคราะห์ผู้อื่น การแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ทั้งในด้านสิ่งของและความรู้ คำแนะนำ
๒. ปิยวาจา การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน สุภาพ จริงใจ ไม่พูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ พูดดีต่อกัน ไม่พูดจาให้ร้ายกัน
๓. อัตถจริยา การประพฤติตน ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ช่วยเหลือกันตามควร ตามกำลังความสามารถของตน
๔. สมานัตตตา การปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวสม่ำเสมอตามควรอันดี
► สัปปุริสธรรม ๗ หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ บัณฑิต คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักธรรม รู้หลัก รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล คือความเป็นผู้รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้
๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล หมายถึง ความเป็นผู้รู้ความมุ่งหมาย รู้จักว่า ผลนี้เกิดจากเหตุนี้ ผลนั้นเกิดจากเหตุนั้น
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ความสามารถ ความถนัดและคุณธรรมต่างๆ ฯลฯ ของตนว่ามีสภาพอย่างไร แล้วประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสม กับตนเอง ตลอดจนหมั่นปรับปรุงแก้ไข พัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง ความรู้จักพอดีในสิ่งต่างๆ รู้จักประมาณในการบริโภคและการใช้จ่ายทรัพย์ รู้จักประมาณในการหาทรัพย์ รู้จักประมาณว่าควรทำสิ่งใด เพียงใด ที่เป็นการพอเหมาะพอควรแก่ภาวะ ฐานะของตน พอควรแก่เรื่องราวและผู้ที่เกี่ยวข้อง
๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายถึง การรู้จักเวลาอันเหมาะสม และ ระยะเวลาที่ควร หรือ ระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงานต่างๆ
๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน (สังคม) หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักถิ่น รู้จักที่ชุมนุม รู้จักสังคม มารยาททางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี ระเบียบแบบแผน คือรู้จักว่า ชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไร จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะเหมาะกับสังคมนั้นๆ
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา (ปุคคลัญญุตา) ความเป็นผู้รู้จักบุคคล (รู้จักเลือกคบบุคคล) หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักบุคคล รู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคล ในด้านอัธยาศัย นิสัยใจคอ ความรู้ ความสามารถ คุณธรรม ฯลฯ เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อผู้นั้นได้ถูกต้อง เช่น ควรคบหรือไม่ ควรจะยกย่อง ชื่นชม หรือจะตำหนิ หรือจะแนะนำสั่งสอนอย่างไร จึงจะให้เกิดผลดี
ธรรมะ เพื่อดำรงตนเป็น ผู้ให้คำปรึกษา ครูอาจารย์ที่ดี
► กัลยาณมิตรธรรม ๗ (คุณสมบัติของมิตรที่ดี เหมาะแก่การคบหา ยกย่องให้เป็น ครู , ผู้ให้คำปรึกษา, มิตรแท้)
๑. ปิโย - เป็นผู้น่ารัก เป็นผู้มีจิตใจ เมตตากรุณา มีพรหมวิหาร ไม่ผูกพยาบาท ไม่ผูกใจเจ็บ หรือเจ้าเคียด เจ้าแค้น ไม่เกรี้ยวกราด รู้จักให้อภัย เป็นที่สบายใจ แก่ผู้เข้าไปพบหา หรือผู้ที่อยู่รอบข้าง
๒. ครุ เป็นผู้น่าเคารพบูชา คือ เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันดีจนเป็นที่ทราบโดยทั่วไป สามารถเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นที่พึ่งทางใจ อบอุ่นใจ แก่ผู้อื่น ผู้ที่อยู่รอบข้าง ผู้ที่อยู่ในปกครอง เป็นผู้ที่น่าเคารพบูชาแก่ ลูกศิษย์
๓. ภาวนีโย เป็นผู้น่านับถือ น่าเทิดทูน น่าเจริญใจ ด้วยว่า เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาดีแล้ว ทรงความรู้และภูมิปัญญา ควรแก่การยอมรับและยกย่องนับถือ เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ เป็นผู้ที่ใครๆ เอ่ยอ้างถึงได้อย่างสนิทใจ และภาคภูมิใจ
๔. วัตตา จะ เป็นผู้รู้จักพูดจา มีเหตุผล มีหลักการ รู้จักชี้แจงแนะนำให้ผู้อื่นเข้าใจดี แจ่มแจ้ง เป็นที่ปรึกษาที่ดี รู้ว่าเมื่อใดควรพูดและพูดอย่างไร
๕. วจนักขโม เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ข้อซักถาม คำเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์ อดทน ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
๖. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา สามารถแถลงชี้แจง เรื่องที่ลึกซึ้ง หรือเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจได้โดยง่ายอย่างถูกต้อง และตรงประเด็นได้ และให้สามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นผลดีจริงได้
๗. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย ไม่ชักนำใปใน่ทางเสื่อม ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ หรือที่ เป็นโทษ เป็นความทุกข์ เดือดร้อน
► พรหมวิหาร ๔ เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ที่ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
๑. เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข
๒. กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข
๔. อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอียงเอนด้วยเพราะความรัก หรือ ชัง
ธรรมะ คติธรรม ที่สำคัญ ควรยึดไว้เป็นหลัก
► กฎไตรลักษณ์
๑. อนิจจตา ความไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดขึ้นแล้วก็สลายไปเปลี่ยนแปรสภาพไปเรื่อย
๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้น ด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
๓. อนัตตา ความมิใช่ตัวตน อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร อาการที่แสดงถึงการไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง เป็นเพียงการประกอบกันของส่วนย่อย ๆ ทั้งหลาย ไม่มีใครเป็นเจ้าของบังคับให้เป็นไปตามปรารถนา ต้องเป็นตามเหตุปัจจัย สรุปว่า ไม่มีอะไรไม่เสื่อมสภาพ ไม่มีอะไรไม่เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นของเรา
► กัมมุนา วัตตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
► หิริ-โอตตัปปะ
หิริ คือ ความละอายต่อบาป ไม่ทำชั่วด้วยกาย วาจา และใจ ไม่ว่าจะมีผู้รู้เห็นหรือไม่ก็ตาม
โอตตัปปะ คือ ความกลัวต่อบาป กลัวผลของกรรมชั่วที่จะตามมา กลัวว่าเมื่อทำชั่วลงไปจะทำ ให้จิตใจของตนเองนั้นตกต่ำลง
หลักธรรม คติธรรม ข้อคิด ทั้งหลายที่นำเสนอนี้ เป็นสิ่งดีงามที่ หมอดู โหร ทั้งหลาย และ บุคคลโดยทั่วไป พึงมี แต่ถ้าเห็นว่ามีหลายข้อจดจำได้ยาก ก็ยึดแค่ หิริ-โอตตัปปะ , กัมมุนา วัตตตี โลโก และข้อคิดที่ผมยึดถือเป็นหลักประจำตัวคือ “ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นโทษแก่ตนเองและผู้อื่น” เพียงเท่านี้ ในมุมมองของผม ก็ถือว่าใช้ได้แล้วละครับ
16 พ.ย. 66