“กดุมพะ ดี กับ ลาภะ ดี” อย่างไหนดีกว่ากัน ? เรียบเรียงโดย ปราณเวท
จริงๆ แล้ว คำถามนี้ ก็ตอบยากอยู่นะครับ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า พื้นฐานฐานะดั้งเดิม และ รูปแบบการใช้ชีวิต ของเจ้าชะตานั้นเป็นอย่างไร ?
ก่อนที่เราจะไปตัดสินใจเลือกว่า อย่างไหนดีกว่ากัน ..เรามาทำความรู้จักกับภพ กดุมพะ และ ลาภะ กันก่อนครับ
ภพ กดุมพะ : เป็นภพศูนยพาหะ นำหน้าลัคนา ในตำแหน่งมุมนี้ ธาตุราศีของศูนยพาหะ จะเป็นศัตรูคู่ธาตุใหญ่ หรือ ศัตรูคู่ธาตุน้อย กับธาตุราศีของลัคนาเสมอ แล้วแต่ว่า ลัคนาอยู่ราศีใด
ความหมายโดยรวมของภพกดุมพะ คือ การเงิน ฐานะการเงิน สิ่งที่ได้มา การสะสม การเงินที่ได้มาจากครอบครัว ทรัพย์สิน พูดง่ายๆ ก็คือ ทรัพย์สินโดยรวมทั้งหมด หักกลบ ลบหนี้ หักรายจ่ายแล้ว (ในบางตำรา กดุมพะ หมายถึง รายจ่าย ส่วนจะจ่ายมากจ่ายน้อย ก็ขึ้นอยู่กับ ดาวที่มาอยู่ในภพกดุมพะ คุณภาพดาว และ ธาตุราศี เป็นตัวกำหนด )
และ ด้วยเหตุที่ธาตุราศี ระหว่าง ลัคนาและ กดุมพะ เป็นคู่ศัตรูกัน รวมถึงลัคนานั้น เป็นวินาศของภพกดุมพะ (ภพถ่ายเรือน) จึงทำให้ กดุมพะ เป็นภพการเงิน ที่ต้องใช้ความพยายาม ในการรักษา หรือ ทำให้เพิ่มพูน ค่อนข้างยากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าให้มองกันจริงๆ กดุมพะ จะมีความมั่นคง มากกว่า ลาภะ เพราะ กดุมพะ เป็นฐานะการเงินโดยรวม เป็นข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเรา (นำหน้าลัคนา) และใกล้ชิดกับ ลัคนา มากกว่า ลาภะ
ภพ ลาภะ : เป็นมุมโยค แก่ลัคนา ซึ่ง “มุมโยค” นั้น ธาตุราศีของมุมนี้ จะเป็นคู่มิตรธาตุต่อกันเสมอ จึงมักจะส่งเสริมกันดี
ถ้ามองทาง “พระเคราะห์ถ่ายเรือน” หรือจะเรียกว่า “ภพถ่ายเรือน” ก็ได้ “ภพลาภะ ก็คือ กดุมพะของกัมมะ” แปลแบบตรงตัว ก็คือ ภพลาภะ เป็นการเงินของการงาน ด้วยเหตุนี้ ความหมาย ภพลาภะ จึงโน้มเอียงไปทาง เป็นเงินที่ได้มาจากการทำงาน จากการกระทำของเจ้าชะตา เป็นรายได้ มากกว่าภพกดุมพะ และภพลาภะ ยังหมายถึง ความสำเร็จ โชคลาภความหวัง สิ่งที่มุ่งหวัง เพื่อนสนิท การรวมกลุ่ม สมาคม อีกด้วย
พอทราบความหมายของทั้งสองภพแล้ว จะกล่าวสรุปว่า “ลาภะ ดีกว่า กดุมพะ” นั้นก็ไม่ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ฐานะการเงินของครอบครัวดั้งเดิม และ รูปแบบการใช้ชีวิต ของเจ้าชะตาเป็นหลักด้วย
คือถ้า “ลาภะดี แต่กดุมพะเสีย” ก็อาจจะเป็นลักษณะ เจ้าชะตาหาเงินเก่ง มีรายได้ดี มีโชคลาภ แต่ไม่ค่อยเก็บออมเงิน หรือ เก็บเงินไม่ค่อยอยู่ ส่วนเรื่องการที่ ไม่เก็บออมเงิน หรือ เก็บเงินไม่ได้นั้น นอกจากจะเป็นเรื่อง การใช้จ่ายออกไปแล้ว ก็อาจจะเป็นว่า เจ้าชะตาเปลี่ยนเงินเป็นสินทรัพย์อย่างอื่นก็ได้ หรือ จะเป็นแบบคนยุคใหม่ ที่ไม่นิยม สะสมอะไรมากนัก เอาแค่พอดี เหมาะสมกับตนเองก็พอ เงินที่หาได้ ก็ใช้จ่ายไป เพื่อความสุข เพื่อไปท่องเที่ยว ฯลฯ และเก็บไว้ใช้ ยามเกษียณ เท่าที่จำเป็นก็พอ โดย ไม่เน้น สร้างอะไรมากมาย ไม่สะสมอะไรมากนัก
ส่วนทางด้าน “กดุมพะดี แต่ลาภะเสีย” ก็อาจจะเป็นลักษณะ เจ้าชะตาหาเงินได้ไม่มาก มีรายได้ไม่มากนัก แต่สามารถเก็บออมเงิน ได้มาก ฐานะการเงิน เงินในบัญชี อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ก็ได้
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะ “กดุมพะดี ลาภะเสีย” หรือ “ลาภะดี กดุมพะเสีย” ก็มีด้านที่ดีด้วยกันทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับ พฤติกรรม รูปแบบการใช้ชีวิต ฐานะครอบครัวดั้งเดิม เป็นหลัก จึงเป็นการยากที่บอกว่า ภพใดดีกว่ากัน แต่ถ้าให้ดีจริงๆ ก็อยากได้ที่ดีทั้ง กดุมพะ ลาภะ นั่นแหละดีจริง ครับ
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่มีฐานะครอบครัวดั้งเดิมดีอยู่แล้ว มีความพร้อมหลายๆ ด้าน อาจจะชอบ “ลาภะดี” มากกว่า หรือ ผู้ที่ชอบช้อปปิ้ง ชอบท่องเที่ยว ใช้จ่ายเงินเพื่อความสุขของตนเองและคนรอบข้าง อาจจะอยากได้ฐานะการเงินที่มั่นคง ก็คงชอบ “กดุมพะดี” มากกว่า ก็เป็นได้ครับ
ปล. ส่วนเรื่อง กดุมพะ-ลาภะ ดีเสียเป็นอย่างไร ดูอย่างไร เมื่อมีเวลา จะมาพิมพ์ให้อ่านนะครับ
25 ต.ค. 66